Wednesday, May 28, 2008

เสือขาวหรือพยัคฆ์ขาว 白虎


เสือขาวหรือพยัคฆ์ขาว 白虎

เสือขาวหรือพยัคฆ์ขาว 白虎 (ไป๋หู่ ในภาษาจีน เบียคโกะ ในภาษาญี่ปุ่น หรือ แบคโฮ ในภาษาเกาหลี) เทพผู้พิทักษ์แห่งทิศตะวันตก เป็นวาโยเทพ หรือเทพเจ้าแห่งสายลม ตัวแทนแห่งฤดูใบไม้ร่วง เป็นตัวแทนของอำนาจบารมี ความเคารพยำเกรงและการทหาร เป็นเทพเจ้าแห่งศึกสงครามและการล่าสังหาร สถานที่หรือชัยภูมิในสมัยโบราณหากมีชื่อของเสือขาว จึงมักมีนัยสำคัญทางทหาร นอกจากนี้ยังใช้ในการตั้งชื่อหน่วยกำลังรบ และใช้เป็นตราสัญลักษณ์ในการบัญชาการเคลื่อนทัพ หรือสลักเป็นลวดลายคู่กับมังกรเขียวบนบานประตูทั้งสอ งข้างเพื่อป้องกันสิ่ง ชั่วร้าย


ตามตำราจีนโบราณ
เสือขาวเป็นธาตุโลหะ ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับหลุมศพตามตำราจีนโบราณในพิธีศพ ของจักรพรรดิจีน มักจะปรากฏสัญลักษณ์ของเสือก้มหัวเคารพศพของจักรพรรดิ เหตุที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากเชื่อกันว่าเสือเป็นเทพเจ้าแห่งการปกป้อง การคุ้มครอง เป็นราชาแห่งสรรพสัตว์ทั้งปวง รวมถึงเป็นราชันย์แห่งขุนเขาด้วย มีหน้าที่ในการขับไล่ศัตรูของจักรพรรดิ และคอยคุ้มครองขับไล่ปีศาจร้ายทั้งปวงมิให้เข้ามาทำร้ายบ้านเมือง เครื่องประดับหยกที่แกะสลักเป็นรูปเสือถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของการรบและการทหาร ซึ่งจะเห็นได้จาก ตราอาญาสิทธิ์รูปเสือ หรือตราอาญาสิทธิ์ทางทหาร ใช้เป็นหลักฐานในการมอบหมายอำนาจทางการทหารและการถ่ายทอดคำสั่งเคลื่อนพลในสมัยโบราณ ซึ่งแบ่งออกเป็นสองส่วนเสมอ เมื่อต้องการเคลื่อนทัพก็จะมอบส่วนด้านซ้ายให้กับแม่ทัพที่นำทัพไป ส่วนด้านขวาจะเก็บรักษาไว้กับตัวเจ้าผู้ครองแคว้นนั้น เมื่อต้องการเคลื่อนย้ายกำลังพลเจ้าแคว้นก็จะมอบตราอาญาสิทธิ์ส่วนขวาให้กับผู้ที่ได้ ้ รับมอบอำนาจ เมื่อผู้รับมอบอำนาจได้พบกับแม่ทัพที่คุมกำลังพล ต่างฝ่ายก็จะแสดงตราอาญาสิทธิ์ส่วนของตน จากนั้นนำมาประกบเข้าด้วยกันเพื่อเป็นหลักฐานในการถ่ายทอดคำสั่งจากเบื้องบน ผู้รับมอบอำนาจจึงจะสามารถเคลื่อนย้ายกำลังทหารได้


ชาวจีนในสมัยโบราณ ได้ให้ความสำคัญต่อสัตว์เทพทั้งสี่ อันได้แก่ มังกรเขียว เสือขาว หงส์แดง และเต่าดำ เป็นอันมาก และความเชื่อดังกล่าวมีอิทธิพลถึงขั้นนำไปใช้ในยุทธวิธีทางการทหารสำหรับการเคลื่อนกองทัพ โดยปรากฎใน ...ตำราพิชัยสงครามบทหนึ่งเกี่ยวกับทิศทางการเดินทัพไว้ว่า "การเคลื่อนทัพนั้น ซ้ายเป็นมังกรเขียว ขวาเสือขาว ทัพหน้าคือหงส์แดงและเต่าดำคุมหลัง บัญชาการจากเบื้องบน นำปฏิบัติสู่เบื้องล่าง"... เนื่องจากผู้คนในสมัยนั้นต่างคุ้นเคยกับตำแหน่งของเทพทั้งสี่เป็นอย่างดี ภายหลังจึงได้รับการประยุกต์ให้กลายเป็นสัญลักษณ์ของธงนำทัพ ของกองทัพที่ประจำอยู่ในแต่ละส่วนของกองทัพ

Roytavan : Writer